สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต



หลักสูตร

 

ภาษาไทย: หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
ภาษาอังกฤษ: Doctor of Philosophy Program in Computer Engineering

 

ชื่อปริญญา

 

ภาษาไทย: ชื่อเต็ม : ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (วิศวกรรมคอมพิวเตอร์)
ชื่อย่อ : ปร.ด. (วิศวกรรมคอมพิวเตอร์)
ภาษาอังกฤษ: ชื่อเต็ม : Doctor of Philosophy (Computer Engineering)
ชื่อย่อ : Ph.D. (Computer Engineering)

 

ปรัชญา / วัตถุประสงค์

วิศวกรรมคอมพิวเตอร์เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและสร้างเครื่อง หรือระบบคอมพิวเตอร์และระบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์และการสื่อสาร มีบทบาทสำคัญในการปฎิรูปอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันและยังเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่จำเป็นต่อการใช้รับมือกับภาวะพลิกผันต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 3 ในปี 1969 จนถึงปัจจุบัน เทคโนโลยีพลิกผัน (Disruptive Technologies) ได้เข้ามาทำให้หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นอยู่ ส่งกระทบต่อธุรกิจและการดำเนินชีวิตของผู้คน 

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีที่เกิดใหม่ทุกชนิด ไม่สามารถทำให้ลักษณะของธุรกิจหรือสังคมเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด มีเทคโนโลยีบางประเภทเท่านั้นที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมาก โดยเฉพาะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการคิดค้นทฤษฎีใหม่และนวัตกรรมทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ยังคงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องผ่านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในศาสตร์นี้ 

รากฐานสำคัญของหลักสูตรนี้ คือ การนำทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์  (Constructivist Theory) 
มาผสมผสานกับการเรียนรู้เฉพาะบุคคล (Personalized Learning) โดยทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์  (Constructivist Theory) มีการผสมผสานแนวคิดแบบคอนสตรัคติวิสต์เชิงปัญญา (Cognitive Constructivism) และคอนสตรัคติวิสต์เชิงสังคม (Social Constructivism) เข้าด้วยกัน โดยเชื่อว่า ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ โดยการนำประสบการณ์หรือสิ่งที่พบเห็นในสิ่งแวดล้อมหรือสารสนเทศใหม่ที่ได้รับมาเชื่อมโยงกับความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิม มาสร้างเป็นความเข้าใจของตนเอง และใช้สถานการณ์ที่เป็นปัญหาหรือความขัดแย้งทางปัญญาที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น ทำให้เกิดการไตร่ตรองเพื่อขจัดความขัดแย้งเหล่านั้นและนำไปสู่การสร้างโครงสร้างใหม่ทางปัญญาขึ้นกับผู้เรียน หลักสูตรจึงใช้กระบวนการจัดการเรียนการสอนโดยการใช้ปัญหาหรือโครงงานเป็นฐาน  (Problem or Project based Learning) เพื่อสนับสนุนทฤษฎีดังกล่าว โดยเน้นให้ผู้เรียนเผชิญกับสถานการณ์จริง ค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาด้วยตนเองผ่านการสนับสนุนของผู้สอนและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น 

การเรียนรู้เฉพาะบุคคล (Personalzied Learning) คือ การให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการเรียนการสอน ตามความถนัดหรือเป้าหมายของตนเอง อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ผู้เรียนมีความแตกต่างกันในเรื่อง ความชอบ ความถนัดและความสามารถ ผู้เรียนแต่ละคนจึงควรมีโอกาส ตั้งเป้าหมายการเรียนรู้และเลือกเรียนรู้ในประเด็นที่ตนสนใจได้ด้วยตนเอง หลักสูตรนี้จึงดำเนินการจัดการเรียนการสอนโดยเอาสมรรถนะของผู้เรียน (Competency) เป็นตัวตั้ง โดยใช้เวลาและวิธีการอย่างยืดหยุ่นตามธรรมชาติของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มประสิทธิภาพตลอดทั้งกระบวนการของการศึกษา โดยมีกิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้ ทีมผู้ให้คำปรึกษาที่เข้มแข็ง และระบบการประเมินสมรรถนะที่สอดคล้องควบคู่ไปด้วย 

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์นี้ จึงมุ่งเน้นในการผลิตดุษฎีบัณฑิตที่สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพื่อแก้ปัญหาและตอบสนองต่อสถานการณ์จริงและตอบสนองต่อความต้องการการใช้งานของกลุ่มเป้าหมาย ได้หลากหลายกลุ่ม ผู้เรียนมีอิสระในการกำหนดหัวข้องานวิจัยและวางแผนเส้นทางการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยมีทีมที่ปรึกษาให้คำแนะนำ ติดตามประเมินผล และมีกิจกรรมสนับสนุนการศึกษาตลอดหลักสูตร

     วัตถุประสงค์

 

  1. มีความรู้ มีความสามารถในเชิงวิจัยขั้นสูงด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ การสื่อสารและสารสนเทศ
  2. ยึดมั่นในจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ
  3. มีความสามารถในการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมต้นแบบเชิงเทคนิคเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์
  4. สามารถทำงานร่วมกับเครือข่ายทางวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรม
  5. สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมต้นแบบสู่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับ  ภูมิภาค และระดับนานาชาติ

 

แนวทางในการประกอบอาชีพ

 

  1. นักวิชาการทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และสารสนเทศ
  2. นักวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และสารสนเทศ
  3. วิศวกรและที่ปรึกษาทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และสารสนเทศ
  4. ผู้ประกอบการทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และสารสนเทศ

 

ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร

 

  • PLO1 สร้างองค์ความรู้หลักด้านปัญญาประดิษฐ์ แพลตฟอร์มระบบสื่อสาร การประมวลผลต้นทางและระบบอัตโนมัติผ่านกระบวนการวิจัย
    • Sub-PLOs 1.1 อภิปรายเชื่อมโยงสาระที่สำคัญของเทคโนโลยีพลิกผัน ด้านปัญญาประดิษฐ์ แพลตฟอร์มระบบสื่อสาร การประมวลผลต้นทาง และระบบอัตโนมัติ
    • Sub-PLOs 1.2 สร้างองค์ความรู้ใหม่โดยเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์แพลตฟอร์มระบบสื่อสาร การประมวลผลต้นทาง และระบบอัตโนมัติผ่านกระบวนการวิจัย
  • PLO2 สร้างนวัตกรรมต้นแบบเชิงเทคนิค หรือต่อยอดองค์ความรู้หลักเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงสังคมหรือเชิงพาณิชย์
    • Sub-PLOs 2.1 นำเสนอการต่อยอดองค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ แพลตฟอร์มระบบสื่อสาร การประมวลผลต้นทาง และระบบอัตโนมัติ
    • Sub-PLOs 2.2 พัฒนาและถ่ายทอดต้นแบบเชิงเทคนิคด้านปัญญาประดิษฐ์ แพลตฟอร์มระบบสื่อสาร การประมวลผลต้นทาง และระบบอัตโนมัติ เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงสังคมหรือเชิงพาณิชย์ สู่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ
  • PLO3 ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมวิจัยทั่วไปและหลักจริยธรรมวิจัยในมนุษย์เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่
    • Sub-PLOs 3.1 ใช้หลักจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์
    • Sub-PLOs 3.2 ดำเนินกระบวนการวิจัย การรวบรวมข้อมูล การทดลอง และการวิเคราะห์ผลอย่างเที่ยงตรง
    • Sub-PLOs 3.3  สร้างผลงานวิชาการด้วยความซื่อสัตย์ ไม่คัดลอกผลงานผู้อื่น
  • PLO4 แสดงออกถึงการเรียนรู้ด้วยตนเอง พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และปรับตัวในการทำงานเป็นทีมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง
    • Sub-PLOs 4.1 วิพากษ์เชิงวิชาการด้วยความมั่นใจ รับฟังความเห็นต่าง และปรับตัวในการทำงานเป็นทีม
    • Sub-PLOs 4.2 เลือกแนวทางในการเรียนรู้ด้วยตนเองและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
  • PLO5 ปฏิบัติตนโดยมุ่งเน้นความสำเร็จในการพัฒนางานที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ขั้นสูง
    • Sub-PLOs 5.1 กำหนดเป้าหมายความสำเร็จทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์วิศวกรรม คอมพิวเตอร์ขั้นสูง
    • Sub-PLOs 5.2 ปฏิบัติตนตามเป้าหมายความสำเร็จ

 

ค่าธรรมเนียม

 

  • แผน 1.1 (จำนวน 6 ภาคการศึกษาในหลักสูตร)
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อหลักสูตร 270,000 .- บาท 
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา 45,000 .- บาท
  • แผน 2.1 (จำนวน 6 ภาคการศึกษาในหลักสูตร)
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อหลักสูตร 270,000 .- บาท 
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา 45,000 .- บาท
  • แผน 2.2 (จำนวน 10 ภาคการศึกษาในหลักสูตร)
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อหลักสูตร 450,000 .- บาท 
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา 45,000 .- บาท 

 

โครงสร้างหลักสูตร

 

แผน 1.1  
  จำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 48 หน่วยกิต
    1. หมวดดุษฎีนิพนธ์ 48 หน่วยกิต
       
แผน 2.1  
  จำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 48 หน่วยกิต
    1. หมวดดุษฎีนิพนธ์ 36 หน่วยกิต
    2. หมวดวิชาบังคับ 9 หน่วยกิต
    3. หมวดวิชาเลือก 3 หน่วยกิต
       
แผน 2.2  
  จำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 72 หน่วยกิต
    1. หมวดดุษฎีนิพนธ์ 48 หน่วยกิต
    2. หมวดวิชาบังคับ 18 หน่วยกิต
    3. หมวดวิชาเลือก 6 หน่วยกิต
       

 

ข้อมูลอ้างอิง

     อ้างอิงจาก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2566

 

     ปรับปรุงข้อมูลบนเว็บไซต์ล่าสุด 27 พ.ย. 66


รายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติม

 

More details (in Thai) : <<

link

>>

More details (in English) : <<

link

>>