กว่าจะมาเป็นแอพ “ยักษ์ขาว” ที่ชาวเชียงรายใช้สู่ฝุ่นควัน PM2.5

Categories: It-ข่าวสารศิษย์เก่า

กว่าจะมาเป็นแอพ “ยักษ์ขาว” ที่ชาวเชียงรายใช้สู่ฝุ่นควัน PM2.5

จริงๆ มีความฝันเล็กๆ ว่าเรา ในฐานะนักพัฒนาและนักสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ จะสามารถทำยังไงได้บ้าง ในการช่วยเหลือประเทศ ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จะต้องไม่ใช่แค่แอพรายงานคุณภาพอากาศ เพราะมี AirVisual ที่ใช้งานได้ดีอยู่แล้ว แถม ใน Line ก็ยังมีแจ้งเตือนทุกวันอีก

จนมาเจอ ผู้คร่ำหวอดในวงการสู้ฝุ่น โดยเริ่มจากปัญหาไฟป่า มาอย่างยาวนาน แต่เจอกันเพราะโครงการเกี่ยวกับการแพทย์ ที่เกี่ยวเนื่องจากผลพวงของฝุ่น PM2.5 คือ ผศ.ดร.นิอร สิริมงคล จากมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาเชียงราย (ทุกคนจะเรียก อ.แจง ยิ้มง่ายคุยเก่ง เข้ากันได้กับทุกคน ^^) ที่ตอนนี้อยู่ในชุดกรรมาธิการของประเทศที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะ ที่มีเหล่านักวิชาการดังๆ ร่วมด้วยมากมาย

เชิญดาวน์โหลด แอพพลิเคชัน “ยักษ์ขาว วัดฝุ่น”
App บน iOS
https://apple.co/38uQGfd

App บน Android
https://bit.ly/2TPEuSk

เยี่ยมชมเว็ปไซต์
https://yakkaw.com

ก่อนจะมาเป็นยักษ์ขาว

จู่ๆ ก็มีสายเข้า อ.บี สนใจมาช่วยงานเรื่องฝุ่น PM2.5 ของจังหวัดมั้ย (ปลายสาย คือ อ.แจง) ตอนนี้ติดต่อทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ในการทำเครื่องวัดฝุ่น (คือทีมของ ผศ.ดร. อนุสรณ์ ตองอ่อน ภาคฟิสิกส์) ในการผลิดเครื่องยักษ์ขาวในล๊อตแรก ซึ่งสนับสนุนโดยผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษาสมาคมยักษ์ขาว คุณมงคลชัย ดวงแสงทอง ที่เราเรียกกันติดปากว่า เฮียอ๋า ที่ใจดีให้ทุนในการผลิต 50 ชุดแรก โดยเป้าหมายคือติดตั้งในโรงเรียนที่เป็นจุดเสี่ยงภัยและเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นกลุ่มแรก โดยได้การสนับสนุนข้อมูลจากทางองค์กร PAN จนเป็นที่มาของกล่องยักษ์ขาว ตัวเล็กๆ ที่ใช้ในการวัดค่าฝุ่น PM2.5 แบบเรียลไทม์ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ 3 มหาวิทยาลัยในเชียงราย หน่วยงานภาคประชาชน และเอกชนร่วมมือกัน
หมายเหตุ: ชื่อ”ยักษ์ขาว” มาตั้งกันทีหลัง ที่มาคือเรามีพี่ชื่อยักษ์เขียวเป็นเครื่องกรองฝุ่นขนาดใหญ่ที่ขอนแก่น

คงพอเดาได้ ว่าผมรีบรับปากในทันที เพราะมีความตั้งใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ว่าอยากทำอะไรซักอย่างกับปัญหานี้ และถ้าอยู่ในวิสัยที่เรามีศักยภาพที่จะทำได้ ทำไมถึงจะไม่ทำ

ศึกษาหาข้อมูล เรียนรู้เรื่องฝุ่น พบความจริงที่น่าตกใจหลายเรื่อง

มาถึงฝั่งผม (อ.วิทยาศักดิ์ รุจิวรกุล … ทุกคนจะเรียก อ.บี) รับหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจาก เครือข่ายเครื่องวัดฝุ่นยักษ์ขาว ทั้ง 50 ตัว เพื่อมาเก็บในฐานข้อมูล และแปลงการแสดงผลให้สอดคล้องกับมาตรฐาน พร้อมกับพัฒนาในส่วนของเว็ปไซต์ รายงานค่าฝุ่น และ โมบายแอพพลิเคชัน ยักษ์ขาว วัดฝุ่น หลังจากเริ่มศึกษาลงลึกพบเรื่องน่าตกใจหลายเรื่องคือ

  1. มาตรฐานในการแสดงค่าที่วัดได้ มีหลายแบบ หลายช่วงให้เลือกใช้ เช่น ค่า AQI, ค่า PM2.5 และค่า สารอื่นๆ แม้แต่ในระดับประเทศ หรือเครื่องวัดฝุ่นรุ่นพี่อย่าง Dustboy ที่ทำในพื้นที่เชียงใหม่ ก็ยังมีประเด็นในการแสดงค่า 
  2. การแสดงผลด้วยค่า AQI (ใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชม.) ไม่น่าจะนำมาใช้ในเชิงป้องกันได้ เพราะแต่ละช่วงเวลามีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก (จากการทดลองติด ยักษ์ขาว รอบบ้านทั้งหมด 9 ตัว)
  3. ขอบเขตของการวัดค่าฝุ่น มีจำกัด อย่างที่บอก จุดที่ติดหน้าบ้าน กับหลังบ้าน ค่าอาจแตกต่างกัน ถ้าข้างบ้านกำลังเผาใบไม้อยู่ ซึ่งคิดว่าเครื่องรุ่นใหญ่ ก็คงมีปัญหาเดียวกัน
  4. ที่เราเห็นในแอพอย่าง Air4Thai , AirVisual หรือแอพอื่นๆ เดิมทีตัวแทนของจังหวัดเชียงราย มีแค่ 2 จุด ที่เป็นเครื่องขนาดใหญ่ของกรมควบคุมมลพิษในช่วงแรก หลังๆมาก มีเครื่องของ Dustboy ของ มช. และของ ไกอาของจีน ข้อมูลจากดาวเทียม มาเสริม  แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมอยู่ดี ซึ่งเอาจริงๆ มันแทนภาพรวมคุณภาพอากาศของทั้งจังหวัดไม่ได้
  5. การแสดงผลเป็นตัวเลขเพียงอย่างเดียว อาจไม่สื่อ และไม่ส่งผลต่อการรับรู้และเฝ้าระวังของประชาชน เอาง่ายๆ แม่ผมที่บ้าน ค่าขึ้น 100 กว่าๆ มองด้วยตาก็ดูออกว่าฝุ่นเยอะ ก็ยังไม่ยอมใส่ mask เพราะคิดว่าเป็นฝุ่นควันตามฤดูกาล
  6. คนส่วนใหญ่ คิดว่าฝุ่น PM2.5 ไม่อันตราย แต่จากการสอบถามคุณหมอ พบว่า มีทั้งแบบที่มีอาการเฉียบพัน ถึงตาย และแบบสะสม ซึ่งทำให้เราอายุสั้นลง (คล้ายๆกับการสูบบุหรี่นั่นเอง)

มีคำหนึ่งที่ อ.แจง พูดบ่อยๆ คือ “เราหายใจเป็นเรียลไทม์” ตอนนี้ก็ยังหายใจ จะใช้ค่าเฉลี่ย 24  ชม. มันไม่สามารถช่วยในเชิงป้องกันได้จริงๆ

หลังจากทำการเก็บข้อมูล นำมาปะติดปะต่อ เพื่อออกแบบสำหรับแก้ปัญหา มีทั้งโจทย์ในการสร้างความตระหนักรู้ การสื่อสารความอันตรายของฝุ่น และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่

เกณฑ์ การแบ่งช่วงค่าสี ประกอบกับใช้ตัวการ์ตูนน่ารัก ในการสื่อสารกับเด็กๆ

 

ยักษ์ขาวเลือกใช้การแสดงค่าของ PM2.5 โดยตรง โดยไม่แปลงไปเป็นค่า AQI เนื่องจากอาจจะมีความแกว่งของค่า และเราวัดได้เฉพาะค่า PM1.0 , PM2.5, PM10, ความชื้น และ อุณหภูมิ (เนื่องจากปัญหาฝุ่นภาคเหนือจะเน้นไปที่ ฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาไหม้) ต่างจากเครื่องวัดรุนใหญ่ที่มีการวัดค่าสารอื่นๆในอากาศด้วย พร้อมกับเลือกที่จะนำเสนอ ค่าเฉลี่ย 24, 12, 6, 3, 1 ชม. และค่าปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้ค่าตามรูปแบบการดำเนินกิจกรรมที่ต้องการ โดยใช้ค่าเฉลี่ย 6 ชม. ในการแสดงค่าสี พร้อมทั้งนำเสนอแนวโน้มของด้วยลูกศรที่ดูง่าย สมารถมองเห็นกลุ่มของสถานี ที่มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้น ลดลง หรือคงที่ ของค่าฝุ่น PM2.5 ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์ของพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วกว่าการมองแค่สีหรือตัวเลข

รูปแบบการรายงานของยักษ์ขาว ที่ใช้การแสดงค่าแนวโน้ม และค่าเฉลี่ยหลายค่า

สิ่งที่เราพยายามทำคือ ให้ความรู้ และความตระหนักรู้ ในการอ่านค่า ใช้ข้อมูล ตีความ เพื่อประเมินสถานการณ์และป้องกันตัวเอง เร่ิมจากเด็กๆใน โรงเรียนเครือข่าย ค่อยๆ ขยายไปถึงผู้ปกครอง ชุมชน ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สู่การวางสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ ที่รองรับการขยายตัวในอนาคต

ตอนนั้นผมเป็นคนเดียวในทีม ที่รู้เรื่องการออกแบบและพัฒนาระบบขนาดใหญ่มาก่อน เนื่องจากทำงานด้านการพัฒนาระบบและแพลตฟอร์มมาหลายปี (จริงๆ ตอนนี้ก็ยังเหมือนเดิม แต่กำลังปั้นทีม น.ศ. เข้ามาช่วย ใน Phase 2 … ฮา) และตอนนี้ก็สอนในรายวิชา สถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เลยคิดและวางสถาปัตยกรรม โดยใช้ Eco-System ให้ได้มากที่สุด ใช้เงินให้น้อยที่สุด อันไหนพอใช้ของฟรีได้ ใช้ เพราะยังไม่รู้ว่าผลลัพธ์สุดท้าย โครงการจะรอด หรือไม่รอด … อารมณ์เหมือนกับทำStartup เลยทีเดียว ความยากเพียงอย่างเดียวคือ การพยายามอธิบายให้ทีมเข้าใจ ถึงขั้นตอน กระบวนการ การเตรียมความพร้อมของข้อมูล และระบบ ก่อนจะพรวดเปิดตัวระบบออกไป (ต้องทน บอกว่ารอก่อนนะครับ เกือบ 2 เดือน เพราะช่วงแรกเราขยายพื้นที่ติดตั้งได้ค่อนข้างช้า) จนออกมาเป็นสถาปัตยกรรม platform ยักษ์ขาว ใน version แรกดังรูป …

สถาปัตยกรรมคร่าวๆ ของยักษ์ขาว version 1.0

ใครจะรู้ว่าช่วงแรก เราใช้ Google Sheet ในการเก็บข้อมูล Realtime Data และส่วนของเว็ป เราใช้ Firebase Host ในการเก็บหน้าเว็ป ภาษาที่เราใช้ง่ายๆ ตั้งแต่ HTML5, CSS3, Java Script, JQuery ส่วนฝั่ง APIs ใช้ Node.js + Express ฐานข้อมูลไม่บอกก็คงเดาได้ว่าใช้ MySQL ส่วนฝั่ง Mobile ผมเลือกใช้ React Native เพราะสามารถขึ้นงานได้ไว้ ประกอบด้วยเคยขึ้นมาหลายแอพแล้ว มีโครงกับคอมโพเน้นเดิมอยู่บ้าง ทำให้สามารถขึ้นแอพพร้อมกันทั้ง Android และ iOS ได้เลยในวันเดียวกัน

หมายเหตุ: สำหรับ sensor จำนวน 50 ตัว และการรับข้อมูลทุก 5 นาที กับจำนวนผู้ใช้หลักพันถึงหมื่น ที่ concurrent user ไม่สูงมาก (กรณีผู้ใช้เข้ามาพร้อมๆกัน) แบบนี้ยังพอไหว แต่ในเฟสสอง ที่จะขยายกลุ่มผู้ใช้และจำนวน sensor จำนวนมาก ก็จะมีการ Re-Architecture กันอีกครั้ง อาจต้องขอการสนับสนุนด้าน server เพิ่มเติม

ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่าหน้าที่ของแพลตฟอร์มยักษ์ขาว ไม่ใด้มีแค่รายงานในเว็ปหรือแอพของเราเองเท่านั้น เรายังมีการส่งข้อมูลไปให้กับเว็ปรายงานข่าว PM2.5 C-Site ของสำนักข่าว Thai PBS (สำนักข่าวนี้ เกาะติดสถานการณ์ PM2.5 มาโดยตลอด มีส่วนอย่างมากในการสร้างการรับรู้และความรุนแรงของปัญหา)

การส่งข้อมูลให้กับเครือข่ายพี่ใหญ่อย่าง C-Air ที่จัดตั้งโดยคุณหมอ นพ. วิรุฬ ลิ้มสวาท ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายเซนเซอร์นาดเล็กทั่วประเทศ ทั้ง CU-Sense ของจุฬา Dustboy ของ มช. เพื่อนำมาประมวลผล และทำ Analytics สำหรับการบริหารจัดการในระดับประเทศต่อไป อีกเรื่องที่ C-Air พยายามผลักดันคือ มาตรฐานค่าสำหรับการรายงานผลที่จะนำมาใช้แทน AQI

สิ่งที่อยากจะฝากกับนักพัฒนาคือ เริ่มแรก อย่าเพิ่งคิดท่ายาก ให้ดันงานออกมาให้ได้ก่อน ตามหลัก MVP ของการทำ Startup หรือกฎ 80:20 ที่เลือกทำแค่ 20% ของฟังก์ชันทั้งหมด ที่มีผู้ใช้งาน เกิน 80% ผมปั้นแอพติด Top 10 มาหลายตัว ล้วนใช้วิธีนี้ทั้งสิ้น ใครจะลองเอาไปปรับใช้ก็ลองดูครับ

รูปแบบการแสดงข้อมูลแผนที่ ในเว็ปไซต์ yakkaw.com

เริ่มต้นจากเว็ป แล้วค่อยไปสู่แอพ

ตัวเว็ป https://yakkaw.com ใช้เวลาทำประมาณ 1-2 วัน เน้นแสดงค่า PM2.5 บนแผนที่ก่อน รวมปรับแต่งเรื่อยๆ ก็หลายสัปดาห์ ปรับตาม Feedback ของทีมงาน กับ กลุ่ม User มี comment ดีๆ หลายเรื่องเช่น พี่พยาบาล จาก รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ที่ขึ้นไปติดจุดแรกด้วยกันที่ รร.ผาเดื่อ  แนะนำว่าจุดไหนที่เป็นค่าทดสอบ (ไม่ใช่ที่ตรงกับสถานที่จริง) ควรจะปิดไป หรือบอกกับผู้ใช้ว่าเป็นสถานีทดสอบ เพื่อป้องกันความสับสน และตามมาด้วยหน้ารายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ ที่ อ.แจง ทวงเช้า ทวงเย็น อยู่หลายวัน (แต่ผมใจแข็ง เพราะสถานีเรายังขึ้นไม่เยอะพอ เลยยังไม่เอาขึ้นให้) ซึ่งสุดท้ายได้ใช้เป็นรายงานที่เราสรุปให้กับหน่วยงานป้องกันภัย กับรายงานผ่าน เพจยักษ์ขาว ในเช้าของทุกวัน เพื่อติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวัง ต้องขอบคุณ อ.แจง ที่ขยันทวงจนได้ของ ^_^

ออกแบบแอพโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใช้เป็นหลัก

มาถึงส่วนของแอพ อันนี้ก็โจทย์ยาก เพราะบ้านเรามีแอพหลายเจ้ามากๆ ก่อนหน้านี้ (ไม่เชื่อลองไปค้น ใน App Store กับ Play Store ดู) แต่ตัวที่มีคนใช้งานมากที่สุดคือ AirVisual หลักการคือเรียนรู้ข้อดีข้อเสียของแอพแต่ละตัว เพื่อนำมาปรับใช้และวาง Position ของแอพเราให้ชัดเจน (อันนี้สำคัญสุด สำหรับนักพัฒนาแอพ) เลยคิดวาง Positon ไว้แบบนี้

  1. การรายงานในระดับโลก และระดับประเทศ เรายกให้ Air Visual ที่ค่อนข้างครอบคลุ่ม แต่กลุ่มผู้ใช้หลักๆคือนักท่องเที่ยว ที่ต้องการทราบสภาพอากาศ ในพื้นที่ ที่ตนเองจะไป รวมถึงคนชุมชนเมือง ที่ต้องการรู้สถานการณ์ฝุ่น (โดยประมาณ) ในพื้นที่ตัวเอง
  2. การรายงานในระดับประเทศ มีส่วนของ DustBoy ที่รับมอบหมายจาก วช. ในการติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นให้กับ รพสต. ทั่วประเทศ ซึ่งยักษ์ขาวยกให้เป็นรุ่นพี่ใจดี ที่เรายกหูคุยปรึกษากัน ในประเด็นความแม่นยำของเครื่องวัด และการสอบเทียบมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็ก ซึ่ง รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ได้กรุณาใจดีให้ข้อมูลอย่างละเอียด 
  3. ส่วนการรายงานในพื้นที่ โดยเฉพาะแต่ละจังหวัด การนำข้อมูลไปใช้ในโรงเรียนในการเรียนการสอนเรื่องภัยพิบัติ การใช้ข้อมูลเชิงป้องกัน การเป็นแอพพลิเคชัน ที่สร้างขึ้นมาจากภาคประชาชน รวมไปถึงการถูกนำไปใช้ในการเฝ้าระวังของหน่วยงานภาครัฐ (ยักษ์ขาว แสดงผลจุดความร้อน ควบคู่กับค่าฝุ่นในแต่ละสถานีวัด) ในการติดตามเรื่องจุดความร้อน และการรณรงค์ งดการเผาในพื้นที่ (ซึ่งเชียงราย ทำได้อย่างดีเยี่ยม จุดความร้อนเราน้อยที่สุดในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน) ต้องขอบคุณพี่ๆ เจ้าหน้าที่ และแกนนำในพื้นที่ ที่ร่วมด้วยช่วยกัน คือหน้าที่ของยักษ์ขาว

รายละเอียดการใช้งาน ของเมนูหน้าแรก

ในหน้าแรกของแอพ จะแสดงค่าเฉลี่ย 6 ชม. PM2.5 ในทุกสถานี ของจังหวัด และอำเภอเป้าหมาย รวมจำวนวนสถานีตามค่าสี ที่ผู้ใช้จะสามารถประเมินสถานการณ์โดยรวมได้ เพราะถ้าทุกสถานีค่อนไปทางสี ส้มและแดง ความหมายคือ เราข้าขั้นวิกฤต ควรอยู่แต่ในบ้าน หรือใส่ mask เมื่อออกมาข้างนอก… แต่ถ้าทุกสถานีค่อนมาทางสีฟ้า หรือเขียว ก็แสดงว่า เย็นนี้เราสามารถพาเด็กๆ ออกไปวิ่งเล่นได้ จุดประสงค์คือ ให้ผู้ใช้ทั่วไปได้เลือกสถานีใกล้ตัวแล้วดูค่า PM2.5 อาจจะเปิดดูแค่วันละ 1-2 ครั้งก็พอแล้ว

ส่วนหน้าแชร์ยักษ์ขาว สามารถกดที่รูปไอคอนยักษ์ขาว มุมบนซ้าย เพื่อแชร์แอพนี้ ให้กับเพื่อนๆ หรือคนที่คุณรักต่อไป

สิ่งที่แอบหวังนิดๆคือ คุณพ่อ คุณแม่ ใช้แอพนี้สำหรับสร้ากิจกรรมในครอบครัว ในการสอนบุตรหลานให้รู้ถึงวิธีการในการอ่านค่า การเตรียมตัวป้องกัน

ซึ่งในระดับ รร. คุณครูในกลุ่มเครื่อข่ายได้นำไปประยุกต์ใช้ในการสอน วิชาสังคมศึกษา คณิตศาสตร์ และการป้องกันภัยพิบัติ เด็กน้อยน่ารัก ออกมารายงานหน้าชั้น

รายละเอียดการใช้งาน หน้า แผนที่ ยักษ์ขาว

ส่วนของแผนที่ เป็นอะไรที่ตั้งใจทำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจังหวัด อำเภอ และหน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงสาธารณะสุข ในจังหวัดเชียงราย ใช้ยักษ์ขาว ในการเป็นเสมือนดวงตาที่ 3 ที่คอยดูว่าพื้นที่ไหน ต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนี้แผนที่ยักษ์ขาว ยังดึงข้อมูลรายวันจาก NASA เพื่อแสดงจุดความร้อน ที่พิเศษคือ เจ้าหน้าที่สามารถกดเข้าไปดูตำแหน่งจุดความร้อนบนแผนที่ และเปิด Google Map สำหรับนำทางไปยังจุดเกิดเหตุได้เลย

นอกจากนี้ หากใครต้องการดูข้อมูลละเอียด ขนาดระดับค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง ค่ารายทุก 5 นาที ก็สามารถกดเข้าไปดูกราฟ รายละเอียดได้ เพื่อจะได้วางแผนป้องกันเหตุ

รายละเอียดแสดง การจัดอันดับค่า PM2.5 ของสถานีเครือข่าย

หน้าจัดอันดับ PM2.5 อันนี้ทำขึ้นมาเพื่อให้ นร. ใน รร. หรือหน่วยงานในพื้นที่ เกิดการแข่งขัน หลักการง่ายๆคือ ใครที่ขึ้นอันดับ 1 บ่อยๆ (ค่าเป็นสีส้ม หรือแดง คือค่า PM2.5 สูงมากนั้นเอง) แสดงว่าน่าจะต้องวางมาตรการในเชิงป้องกัน กันใหม่ ดังนั้นใครติดชาร์ตบ่อยๆ ผู้นำชุมชนในพื้นที่ กับเจ้าหน้าที่ อาจต้องไปช่วยกันวางแผนแก้ปัญหา

อีกจุดหนึ่งคือการค้นหาสถานีใกล้ตัว เพื่อที่จะสามารถบันทึก และนำไปแสดงในหน้าแรกได้

หน้าที่สี่ จะเป็นข่าวสารและช่องทางติดต่อ หน่วยงานและสมาคมยักษ์ขาว สำหรับผู้ที่สนใจสนับสนุนโครงการ ในการผลิตเครื่องเพื่อกระจายไปยังโรงเรียนที่ยังขาดแคลน การบริจาคหน้ากากอนามัย รวมไปถึงการสมทบทุนในการจัดสร้างห้องอากาศสะอาดติดตั้งเครื่องกรองอากาศ

ตัวแอพ จะถูกปรับเพิ่มความสามารถเรื่อยๆ (ข้อดีของการทำเองได้ ไม่ต้องจ้างใคร เลยไม่ต้องรอ) ตอนนี้ตั้งไว้ว่า 1-2 สัปดาห์ต่อการปรับ Minor change ส่วน Major Change จะเป็นทุก 2-3 เดือน โดยเน้นเก็บ Feedback จากผู้ใช้ ประกอบกับตัวเองใช้งานทุกวัน คิดว่าอะไรน่าจะต้องเพิ่ม ก็โน๊ตๆ เก็บไว้ พอมีเวลาก็มานั่งปรับ … ข้อดีของการใช้ React Native คือ ปรับที่เดียว ที่เหลือคือ Build …Pack แล้วขึ้น Store บางครั้งใช้เวลาปรับรวมถึงขึ้น Store ไม่กี่นาที

ทีมงานหลังบ้านและ ทุกท่านที่คอยสนับสนุน

ยักษ์ขาว ไม่ได้เป็นแค่เว็ป หรือแอพ หรือระบบ แต่เป็นแพลตฟอร์สาธารณะและการขับเคลื่อนทางสังคมครั้งสำคัญ ที่ภาคประชาชน นักวิจัย นักวิชาการ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ ในพื้นที่ได้ทำงานร่วมกันประสานเป็นหนึ่งเดียว ในการสู้ภัยฝุ่นไปด้วยกัน เพื่อลูกหลาน ขอขอบพระคุณทีมงานสมาคมยักษ์ขาวทุกท่าน ที่ให้โอกาสในการทำสิ่งดีๆ ให้กับบ้านเกิด 

ขอบคุณทีมงานยักษ์ขาว คุณภูวศิษฏ์ ประยูรส่วน (คุณศักดิ์) และคุณ บี ที่ออกพื้นที่ในเชียงรายแล้วพกเครื่องยักษ์ขาวไปติดตั้งทำให้ยักษ์ขาวสามารถขยายจำนวนสถานีได้อย่างรวดเร็ว

ขอบคุณพี่ติ๋ม พี่พัท น้องตูน และอีกหลายท่านที่อาจจะตกหล่นไป ไม่ได้กล่าวถึง ในการช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งยังดูแลกันเป็นอย่างดี เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

ขอบคุณ อ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ และกลุ่มคณะทำงานสู้ฝุ่น ม.แม่ฟ้าหลวง ทุกท่าน ที่คอยให้คำแนะนำ และประสานงานในหลายๆเรื่อง ด้วยเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อพี่น้องประชาชน 

ขอบพระคุณท่านอธิการบดี รศ.ดร. ชยาพร วัฒนศิริ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่มองเห็นความสำคัญของปัญหาฝุ่นควัน และอนุมัติในทันที่ที่ขอไปช่วยงานในโครงการของ ยักษ์ขาว แถมยังกำชับว่าช่วยให้เต็มที่ทำให้ดีที่สุด

ก้าวต่อไปของยักษ์ขาว

ตอนนี้เริ่มมีหลายหน่วยงาน และหลายจังหวัดติดต่อมาขอใช้ Platform ยักษ์ขาว ในก้าวย่างต่อไปที่เราได้มีการวางแผนกันไว้ เป็นการประสานงานกันระหว่างสมาคมยักษ์ขาว และกองทุนเมืองไทยไร้หมอกควัน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รวมถึงศูนย์ AIE (AI & Emerging Technology) นำโดย รศ.น.ท.ดร. ทศพล บุญเกิน ในการขยายผลในส่วนขององค์ความรู้ในการสู้ภัยฝุ่น ที่ไม่ใช่ใช้แค่คน หรือเทคโนโลยี แต่มันคือการผสานความร่วมมมือของทุกฝ่าย เพื่อขยายแนวทางแก้ปัญหาที่ ยักษ์ขาว เริ่มทำให้เห็นผลแล้ว ว่าเราทำได้ และพร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อนพ้องและพี่น้องในจังหวัดที่มีปัญหาเดียวกัน

สนใจเข้าร่วมโครงการ นำแพลตฟอร์มไปใช้งาน หรือร่วมสนับสนุนทุนในการผลิตเครื่องวัดฝุ่นและพัฒนาแพลตฟอร์มให้ครอบคลุมในจังหวัดหรือพื้นที่ของท่าน สามารถติดต่อได้ที่ สมาคมยักษ์ขาว โทร: 06-2365-0505 หรือสอบถามมาที่ผมโดยตรง อ.บี  08-1494-3216

== ฝากข้อคิด == ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวนัก ถ้าเป็นเรื่องดีๆ ที่เราสามารถทำได้ ทำเถอะ

 

ขอบคุณบทความจาก : อาจารย์ วิทยาศักดิ์ รุจิวรกุล (อ.บี - อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมซอฟแวร์ สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)รายละเอียดเพิ่มเติม : http://ajbee.me/2020/02/07/yakkaw-history/

  • 1267